คำเตือน: เนื้อหาที่อาจสร้างความไม่สบายใจ

โปรดทราบว่าบทความนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภครก (Placentophagy) ซึ่งรวมถึงภาพและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการบริโภครก หากคุณอ่อนไหวต่อเนื้อหา ภาพ หรือรู้สึกไม่สบายใจกับประเด็นนี้ โปรดระมัดระวังหรือข้ามบทความนี้

ติ๊กต็อกเป็นอีกแพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับการสร้างและแชร์เทรนด์ต่างๆ ที่กำลังเป็นไวรัล แพลตฟอร์มนี้ได้สร้างเทรนด์มากมาย ตั้งแต่การเต้นไปจนถึงมีมไวรัลต่างๆ และยังทำให้เกิดเทรนด์เมนูอาหารใหม่ๆ ที่เป็นที่นิยม เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่าหนึ่งพันล้านคน ติ๊กต็อกจึงสามารถสร้างเทรนด์ขึ้นมาใหม่ได้ในชั่วพริบตา และการกินรกหลังคลอด หรือ Placentophagy ก็เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมบนแพลตฟอร์มในขณะนี้

มีคุณแม่หลายรายที่ออกมาแบ่งปันประสบการณ์การบริโภครกบนติ๊กต็อก กระแสดังกล่าวได้สร้างทั้งความอยากรู้อยากเห็นและประเด็นถกเถียง Fact Crescendo จึงได้ดำเนินการตรวจสอบประเด็นนี้เพิ่มเติม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ได้แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับเทรนด์ดังกล่าวนี้ โดยระบุในทวีตว่า:

“ติ๊กต่อกเปิดโลกอีกแล้ว ความรู้ใหม่ประจำวันนี้คือเพิ่งรู้เลยว่ามีคุณแม่บางคนกินรกด้วย รกที่เป็นรกเด็กอะ กินหลังคลอดลูก (มันกินได้ด้วยเหรอ) อย่างแม่ที่เห็นคือเอามาปั่นรวมผลไม้เป็นสมูทตี้ แล้วลองเข้าแท็กมีคนกินเต็มเลย มันกินได้จริงใช่มั้ย ฮือ”

Source | Archive

ทวีตดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีการรับชมไปแล้วกว่า 2.6 ล้านครั้ง โดยผู้คนต่างแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย

Archive

เราได้ทำการตรวจสอบและพบเทรนด์นี้ในหลายๆ วิดีโอบนติ๊กต็อก โดยบางวิดีโอมีการแชร์และรับชมไปแล้วกว่าหลายพันครั้ง และนี่คือหนึ่งในวิดีโอที่อ้างว่าการบริโภครกนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

Source | Archive

เห็นได้ว่ากระแสการบริโภครกนั้นกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นบนติ๊กต็อก เราจึงได้ทำการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

Placentophagy คืออะไร?

การบริโภครกหลังคลอดหรือที่เรียกว่า "Placentophagy" นั้นเพิ่งเป็นที่นิยมเมื่อไม่นานมานี้ โดยผู้ที่บริโภครกได้อ้างว่ารกนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ทั้งการลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เพิ่มการผลิตน้ำนม และช่วยบำรุงกำลัง

รกเป็นอวัยวะที่พัฒนาขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อให้สารอาหารและออกซิเจนแก่ทารกที่กำลังพัฒนาในครรภ์ โดยปกติแล้วรกจะถูกขับออกจากร่างกายของมารดาหลังคลอดบุตร ในบางวัฒนธรรม รกถือเป็นเป็นอวัยวะที่ศักดิ์สิทธิ์และได้รับความเคารพ นอกจากนี้ บางคนเชื่อว่าการบริโภครกจะช่วยให้ผู้เป็นแม่ฟื้นตัวจากการคลอดบุตรและให้สารอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกาย อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับการกล่าวอ้างเหล่านี้ยังคงมีไม่มากเพียงพอ

มีหลายกระบวนการที่ใช้ในการบริโภครก เช่น การบริโภครกดิบ ปรุงสุก หรือสกัดเป็นแคปซูลหรือสารสกัดเข้มข้น หรือแม้กระทั่งผสมรกกับผลไม้หรือผักเพื่อทำสมูทตี้

กระแสบริโภครกในมุมมองแบบวิทยาศาสตร์

แม้ในวิดีโอข้างต้นจะอ้างว่าการบริโภครกเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศนอกสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบต่อมนุษย์ที่มากพอ จากข้อมูลของ PlacentaRisks การศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลกนั้นไม่พบวัฒนธรรมหรือประเพณีใดของแม่ที่กินรกหลังจากคลอด แนวโน้มการบริโภครกของมนุษย์เริ่มขึ้นจริงๆ ในทศวรรษที่ 1970 และการศึกษาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบริโภครกนั้นทักจะเป็นการวิจัยกับสัตว์ และได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป

แม้บางบทความก็ระบุว่าการบริโภครกอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่มีการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่าการบริโภครกกับการไม่บริโภคนั้นไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น บทความ "Placentophagy's Effects on Mood, Bonding and Fatigue: A Pilot Trial, Part 1" ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของการบริโภครกต่ออารมณ์ ความผูกพัน และความเหนื่อยล้าหลังคลอด โดยศึกษาผู้หญิง 27 คนที่บริโภครกแบบแคปซูลและผู้หญิงอีก 12 คนที่ไม่ได้บริโภค ผลการศึกษาพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างทั้งสองกลุ่มในด้านอารมณ์ ความผูกพัน และความเหนื่อยล้า

แม้หลายคนอาจเชื่อว่าการบริโภครกนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่บุคลากรทางการแพทย์รวมถึงองค์กรเฉพาะทางหลายรายก็เตือนว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างเหล่านี้ และการบริโภครกอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดย Dr. Mary Marnach จาก Mayo Clinic ได้ระบุว่า การบริโภครกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่อาจเป็นอันตราย และอาจนำไปสู่โรคภัยอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่รกอาจส่งผลต่อการให้นมบุตร เนื่องจากรกอาจมีฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำนม และ Dr. Marnach ยังตั้งข้อสังเกตกรรมวิธีในการเตรียมและบริโภคผลิตภัณฑ์จากรกที่อาจไม่ถูกสุขลักษณะมากเพียงพอ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีองค์กรและสถาบันอื่นๆ ที่ไม่แนะนำให้เหล่าคุณแม่บริโภครก ทั้ง Northwestern University, Center for Disease Control and Prevention (CDC) รวมถึงมีบทความตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ Arch Womens Ment Health และบทความจาก BBC อีกด้วย

สรุปแล้ว แม้การบริโภครกจะเป็นที่นิยมในติ๊กต็อกและในหมู่คนบางกลุ่ม แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะพิสูจน์คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลดีต่อสุขภาพได้ การรับประทานรกอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังเสี่ยงต่ออันตรายจากการติดเชื้อ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการให้นมบุตร นอกจากนี้ กรรมวิธีในการเตรียมและบริโภคผลิตภัณฑ์จากรกอาจไม่ถูกสุขลักษณะเพราะไม่มีหลักปฏิบัติที่ได้รับการรับรองในทางการแพทย์ จึงควรระมัดระวังและปรึกษากับแพทย์ก่อนพิจารณาทางเลือกนี้

ที่มา:

  1. "Honoring the Placenta in Different Cultures." Parent's Guide to Cord Blood Foundation. https://parentsguidecordblood.org/en/news/honoring-placenta-different-cultures
  2. "Human Placenta History." Placenta Risks. https://placentarisks.org/tradition/human-placenta-history/
  3. Khashan, Ali S., et al. "The effect of mode of delivery on neonatal mortality and morbidity in term twins: a systematic review and meta-analysis." European Journal of Obstetrics & Gynecology and Reproductive Biology, vol. 216, 2017, pp. 98-108.
    https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S187151921730207X
  4. "Eating the Placenta: What's the Harm?" Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/labor-and-delivery/expert-answers/eating-the-placenta/faq-20380880
  5. Tinker, Sara C., et al. "Eating the Placenta: Trendy but No Proven Health Benefits and Unknown Risks." Northwestern University. https://news.northwestern.edu/stories/2015/06/eating-the-placenta-trendy-but-no-proven-health-benefits-and-unknown-risks-
  6. "Notes from the Field: Late-Onset Infant Group B Streptococcus Infection Associated with Maternal Consumption of Capsules Containing Dehydrated Placenta." Centers for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/66/wr/mm6625a4.htm?s_cid=mm6625a4_e#contribAff
  7. Gryder, Laura K., et al. "Placentophagy: Therapeutic Miracle or Myth?" Archives of Women's Mental Health, vol. 18, no. 5, 2015, pp. 673-680.
    https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26043976/
  8. "Placenta Smoothies: What's in Them?" BBC News. https://www.bbc.com/news/uk-england-27307476
Avatar

Title:เช็กเทรนด์ติ๊กต็อก: การบริโภครกหลังคลอดมีประโยชน์จริงไหม

By: Cielito Wang

Result: Explainer