ท่ามกลางข่าวน้ำท่วมหนักในหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทย ล่าสุดเราพบข้อความที่แพร่กระจายเกี่ยวกับน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจทำให้เมืองจมทะเลในไม่ช้า โดยข้อความดังกล่าวแพร่กระจายอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดีย

โพสต์บนโซเชียลมีเดีย

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข้อความแพร่กระจายบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ระบุว่า “น้ำทะเลหนุน ถนนพระราม 2 เมืองกำลังจะจมทะเล ถ้าเรายังไม่เริ่มวางแผนรับมือ”



โดยรูปภาพและข้อความดังกล่าวมีการแชร์อย่างแพร่หลายบนแพลตฟอร์ม Facebook



อย่างไรก็ตาม เราพบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

จากการตรวจสอบของเราพบว่า ในช่วงวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุน้ำท่วมที่บริเวณถนนพระราม 2 จริง แต่เป็นน้ำท่วมขังที่รอการระบาย เนื่องมาจากฝนตกหนักและน้ำทะเลหนุนสูง อย่างไรก็ตาม ทางรัฐฯได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว

นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม รายงานเหตุน้ำท่วมบนถนนพระราม 2 เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 67 ระดับน้ำท่วมขัง 15-25 ซม. ส่งผลให้การจราจรติดขัด สาเหตุเกิดจากฝนตกหนักและน้ำทะเลหนุนสูงเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 67 ทำให้น้ำท่วมขังรอการระบาย เนื่องจากปริมาณน้ำในคลองสาธารณะสูง ทางหลวงได้ดำเนินการแก้ไขโดยขุดลอกวัชพืช ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และวางกระสอบทราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ทำให้ระดับน้ำเริ่มลดลง กระทรวงคมนาคมขออภัยในความไม่สะดวก และเร่งดำเนินการแก้ไขแล้ว (ที่มา)

นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง และไม่ใช่การประกาศเตือนจากหน่วยงานภาครัฐ แต่เป็นการสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน ทางสำนักงานขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลคาดการณ์สถานการณ์น้ำและประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงจากหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น และขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลนี้ต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ที่เว็บไซต์ www.onwr.go.th (ที่มา)

แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ล่าสุด

เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ 2,199 ลบ.ม./วินาที กทม. เตือนน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 13–23 ต.ค. 16 ชุมชนนอกคันกั้นน้ำเตรียมรับมือ

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะรายงานปริมาณน้ำต้นเจ้าพระยา 2,326 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทานจัดการน้ำเข้าระบบ 464 ลบ.ม./วินาที โดยแบ่งเป็นฝั่งตะวันออก 180 ลบ.ม./วินาที และฝั่งตะวันตก 284 ลบ.ม./วินาที

น้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,199 ลบ.ม./วินาที ระดับเหนือเขื่อน +17.12 ม. รทก. เขื่อนป่าสักฯ ระบาย 100 ลบ.ม./วินาที ผ่านเขื่อนพระรามหก 266 ลบ.ม./วินาที รวมที่ อ.บางไทร 2,056 ลบ.ม./วินาที

กทม. เตือนน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นระหว่างวันที่ 13–23 ต.ค. และขอให้ 16 ชุมชนนอกคันกั้นน้ำ รวม 731 ครัวเรือน ใน 7 เขต เตรียมพร้อมรับมือ โดยยกของขึ้นที่สูง ตรวจสอบปลั๊กไฟ และเฝ้าระวังระดับน้ำ ชุมชนนอกแนวป้องกันน้ำท่วมปัจจุบัน 16 แห่ง ได้แก่ ซอยสีคาม ราชผาทับทิมร่วมใจ ปลายซอยมิตตาคาม เทวราชกุญชร (เขตดุสิต) ท่าวัง ท่าเตียน (เขตพระนคร) วัดปทุมคงคา ตลาดน้อย (เขตสัมพันธวงศ์) มาตานุสรณ์ หลัง ร.พ.เจริญกรุงฯ วัดอินทร์บรรจง วัดบางโคล่นอก (เขตบางคอแหลม) โรงสี ถนนพระราม 3 (เขตยานนาวา) ดุสิต นิมิตรใหม่ (เขตบางกอกน้อย) เจริญนคร ซอย 29/2 และช่างนาค-สะพานยาว (เขตคลองสาน) (ที่มา)

สรุป

ข้อความที่กล่าวอ้างว่า เมืองกำลังจะจมทะเล เนื่องจากน้ำทะเลหนุนถนนพระราม 2 เป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด ในปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครไม่ได้รุนแรงถึงขั้นที่เมืองจะจมทะเล แต่มีการเฝ้าระวังในบางพื้นที่ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงวันที่ 13-23 ตุลาคม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์แล้ว


Claim Review :   กรุงเทพฯ กำลังจะจม เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง
Claimed By :  Social Media Users
Fact Check :  MISLEADING