เมื่อวันที่ 3 กันยายน นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคประชาชน ได้อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า โรงงานเภสัชกรรมทหารผลิตยาอันตราย 2 ชนิด คือ อัลปราโซแลม (ยาเสียตัว) และซูโดอีเฟดรีน (สารตั้งต้นยาเสพติด) ซึ่งน่าสงสัยและไม่โปร่งใส นอกจากนี้ ยังได้อภิปรายถึงกรณีที่มีแผนสร้างโรงงานใหม่ที่ราชบุรี งบ 938 ล้านบาท เพิ่มกำลังผลิตเป็น 600 ล้านเม็ดต่อปี คาดกำไร 50 ล้านบาทต่อปี น.ส.กัลยพัชรเสนอตัดงบประมาณ เนื่องจากไม่จำเป็น และไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ (ที่มา)

โดยการอภิปรายดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีผู้ใช้แพลตฟอร์ม X ได้แชร์การอภิปรายดังกล่าวพร้อมข้อความว่า “ความรู้ใหม่เลย ว่าบริษัทยาของทหารผลิตยาตัวนี้ ซึ่งอาจใช้เป็นสารตั้งต้นยาเสพติดได้ ซึ่งทั่วโลกเขาเลิกผลิตไปแล้ว แต่..…” และโพสต์ดังกล่าวมีการรับชมบนแพลตฟอร์มไปกว่า 3.3 ล้านครั้ง



นอกจากนี้ จากการอภิปรายครั้งนี้ ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายรายเข้าใจผิดว่าโรงงานผลิตยาของทหารนี้ผลิตสารตั้งต้นยาเสพติด เพื่อเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด รวมถึงเข้าใจว่ากองทัพต้องการยึดอำนาจในการผลิตยาไว้





ตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง ได้ชี้แจงประเด็นที่เป็นกระแสนี้ โดยระบุว่าข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้เข้าใจผิดและสร้างความสับสนในหลายประเด็น และได้อธิบายแต่ละประเด็นดังนี้

กรณีที่มีการระบุว่ายาซูโดอีฟีดรีน (Pseudoephedrine) แทบไม่มีจำหน่ายในต่างประเทศเนื่องจากเป็นสารตั้งต้นของยาบ้าและยาไอซ์นั้น ข้อเท็จจริงคือ "ผู้ที่สามารถจำหน่ายซูโดอีฟีดรีนสูตรเดี่ยวได้ จำกัดเฉพาะผู้รับอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม หรือ 'สถาบันอื่นของทางราชการตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา' เท่านั้น"

ดังนั้น โรงงานเภสัชกรรมทหาร ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม จำเป็นต้องผลิตยาเพื่อการแพทย์ตามกฎหมาย โดยยานี้ห้ามขายในร้านขายยาทั่วไปอยู่แล้วตามกฎหมาย ปัจจุบันยังคงมีการผลิตยาดังกล่าวเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล เนื่องจากเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา

ประเด็นสำคัญคือ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ "หน่วยงานใดเป็นผู้ผลิต" แต่อยู่ที่การ "ควบคุมการใช้ยา" อย่างเหมาะสม โดยปัจจุบันยาชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 (วจ.2) ซึ่งการใช้ต้องขออนุญาตทุกครั้งและมีการจำกัดการใช้ ในทางการแพทย์ ยาทั้งสองชนิดนี้อยู่ในกลุ่มที่ใช้รักษาอาการในลักษณะเดียวกัน จึงล้วนมีประโยชน์ต่อผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรงงานเภสัชกรรมทหาร ซึ่งเป็นโรงงานยาที่จัดตั้งขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2484–2488 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อผลิตยาช่วยเหลือประชาชนและทหารในภาวะสงคราม ปัจจุบันโรงงานยังคงอยู่ภายใต้สังกัดปลัดกระทรวงกลาโหม และผลิตยาเพื่อใช้ในกองทัพ

ที่ผ่านมา โรงงานเภสัชกรรมทหารได้ช่วยเหลือองค์การเภสัชกรรม (GPO) ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงสาธารณสุข ในการผลิตยาใช้ในยามวิกฤต เช่น ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 เมื่อองค์การเภสัชกรรมผลิตยาไม่ทัน

โฆษกกระทรวงกลาโหมยังเน้นย้ำว่า โรงงานเภสัชกรรมทหารผลิตยาส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ยาได้ เนื่องจากเป็นยาที่ต้องควบคุมการผลิตอย่างเข้มงวด และจำเป็นต้องส่งให้โรงพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วย ไม่ได้ผลิตเพื่อให้เฉพาะทหารใช้เท่านั้น (ที่มา | ลิงก์ถาวร)

และในวันที่ 4 กันยายน นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ ได้โพสต์ชี้แจงและขออภัยในข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อน โดยกล่าวว่า “สำหรับข้อความที่ดิฉันขึ้นในสไลด์การอภิปรายว่า “ทั่วโลกเลิกผลิต (ยา Pseudoephedrine) แล้ว” เป็นข้อความที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือ “แทบทุกประเทศที่ห่วงความปลอดภัยของประชาชน มีการควบคุมยา Pseudoephedrine อย่างเข้มข้น” และประเทศไทยเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่จำกัดการครอบครอง” (ที่มา | ลิงก์ถาวร)

อัลปราโซแลม และซูโดอีเฟดรีน คืออะไร

อัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ใช้รักษาอาการวิตกกังวลและตื่นตระหนก รวมถึงอาการนอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า และภาวะติดสุราเรื้อรัง ยานี้ยังใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อและยาระงับอาการชักด้วย ในประเทศไทย อัลปราโซแลมจัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ซึ่งต้องได้รับการจ่ายยาโดยสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตเท่านั้น

ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการคัดจมูกและน้ำมูกไหลจากโรคหวัด ไซนัสอักเสบ และโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจอื่น ๆ ยานี้มีทั้งชนิดที่เป็นยาเดี่ยวและชนิดที่ผสมกับยาอื่น เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ และยาแก้ปวด ซูโดอีเฟดรีนสามารถนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้าได้ ดังนั้นในประเทศไทยจึงจำกัดให้มีการใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น

อัลปราโซแลมและ ซูโดอีเฟดรีน ยังคงมีการใช้ในหลายประเทศทั่วโลก แต่มีการควบคุมที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ตัวอย่างประเทศที่ยังคงใช้ตัวยาเหล่านี้ ได้แก่

สหรัฐอเมริกา: อัลปราโซแลมใช้ในการรักษาอาการวิตกกังวลและตื่นตระหนก ส่วนซูโดอีเฟดรีนใช้ในยาบรรเทาอาการคัดจมูก เช่น Sudafed

แคนาดา: มีการใช้ทั้งอัลปราโซแลมและซูโดอีเฟดรีน แต่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์

ออสเตรเลีย: อัลปราโซแลมใช้ในการรักษาอาการวิตกกังวลและตื่นตระหนก ส่วนซูโดอีเฟดรีนใช้ในยาบรรเทาอาการคัดจมูก แต่มีการควบคุมการขายอย่างเข้มงวด

ตัวอย่างยาที่ผสมตัวยาอัลปราโซแลม ได้แก่ Xanax, Niravam และยาที่มีตัวยาซูโดอีเฟดรีน ได้แก่ Sudafed, Claritin-D, Zyrtec-D เป็นต้น

(ที่มา: Reader’s Digest, IAMAT, The Manual)

สรุป

ข้อมูลว่า ทั่วโลกเลิกผลิตตัวยาอัลปราโซแลมและซูโดอีเฟดรีนเนื่องจากเป็นตัวยาอันตรายและเป็นสารตั้งต้นยาเสพติดนั้น เป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด ความจริงแล้ว ยาทั้งสองชนิดยังคงมีการผลิตและใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก แต่มีการควบคุมการผลิต การจำหน่าย และการใช้อย่างเข้มงวด เนื่องจากมีประโยชน์ทางการแพทย์ที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ประเทศต่าง ๆ มีมาตรการควบคุมที่แตกต่างกันไปตามบริบทและนโยบายด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ