หลังเหตุการณ์ที่โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีและผู้ลงสมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประจำปีนี้ถูกลอบยิงขณะออกหาเสียงเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีข้อกล่าวอ้างที่ชวนให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดียมากมาย และหนึ่งในนั้นคือข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่า นอกจากทรัมป์จะถูกยิงที่บริเวณใบหูแล้ว ทรัมป์ยังถูกยิงบริเวณหน้าอกอีกด้วย

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

มีผู้ใช้ Facebook โพสต์ภาพของโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะเกิดเหตุลอบยิง พร้อมข้อความระบุว่า นอกจากทรัมป์จะถูกยิงที่บริเวณใบหูแล้ว ยังถูกยิงบริเวณหน้าอกด้วย

ที่มา | ลิงก์ถาวร

ที่มา | ลิงก์ถาวร

นอกจากนี้ เรายังพบภาพและข้อกล่าวอ้างเดียวกันแพร่กระจายบนแพลตฟอร์ม X อีกด้วยเช่นกัน

ที่มา | ลิงก์ถาวร

ที่มา | ลิงก์ถาวร

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบ เราพบว่าภาพและข้อกล่าวอ้างดังกล่าวชวนให้เข้าใจผิด

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

เราตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยใช้ฟีเจอร์การค้นหารูปภาพแบบย้อนกลับ (Reverse Image Search) เพื่อค้นหาที่มาของรูปภาพดังกล่าว และพบว่าภาพดังกล่าวมาจากรายงานข่าวของสำนักข่าว AP เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม (ดูภาพต้นฉบับได้ที่นี่)

โดยเมื่อดูภาพต้นฉบับแบบความละเอียดสูงจะพบว่า รอยที่มีลักษณะเหมือนรูในภาพที่กล่าวอ้าง แท้จริงแล้วเป็นรอยพับจากแขนเสื้อของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาประชิดตัวเพื่ออารักขาและนำทรัมป์ออกจากที่เกิดเหตุ ไม่ใช่รอยจากเสื้อของทรัมป์

ภาพโดย: AP Photo/Evan Vucci

นอกจากนี้ จากรายงานของ Reuters ทรัมป์ได้เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบุเพียงว่าเขาถูกยิงบริเวณใบหูด้านขวาเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงรอยกระสุนบริเวณหน้าอกด้านขวาแต่อย่างใด

ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการสอบสวนเหตุการณ์ลอบยิงทรัมป์

เจ้าหน้าที่ FBI ได้รายงานรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า มือปืนที่พยายามสังหารอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้ค้นหารูปภาพและลักษณะของทั้งทรัมป์และไบเดน แต่ไม่ได้มีการแสดงออกด้านการเมืองที่สุดโต่ง และผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับจะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดในการพิจารณาคดีของรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ามือปืนมีพฤติกรรมแปลกๆ ก่อนเกิดเหตุ และเมื่อเกิดเหตุขึ้น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงยิงวิสามัญผู้ก่อเหตุทันที โดยเจ้าหน้าที่สืบสวนพบระเบิดแสวงเครื่อง 2 ลูกในรถของเขา และในปัจจุบันยังคงมีการสืบสวนอย่างต่อเนื่องเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดช่องโหว่ในการรักษาความปลอดภัย จนนำไปสู่เหตุการณ์โจมตีครั้งนี้

อ่านบทความที่คล้ายกัน: ชายในวิดีโอที่แอบอ้างเป็น โทมัส ครุกส์ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุตัวจริง

สรุป

ภาพและข้อกล่าวอ้างว่าทรัมป์ถูกยิงที่หน้าอก เป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด โดยรอยที่ดูคล้ายรูบนเสื้อในภาพดังกล่าว แท้จริงเป็นรอยพับแขนเสื้อของหน่วยสืบสวนพิเศษที่เข้ามาอารักขาทรัมป์ขณะเกิดเหตุ ไม่ใช่รอยรูบนเสื้อของทรัมป์แต่อย่างใด

Avatar

Title: ภาพและข้อกล่าวอ้างว่าทรัมป์ถูกยิงที่หน้าอก ชวนให้เข้าใจผิด

Fact Check By: Cielito Wang

Result: Misleading