ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้คนเริ่มแสดงความกังวลต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ออกมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากมายที่อ้างว่าสามารถช่วยป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ แล้วอุปกรณ์นี้ทำงานอย่างไร และสามารถป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้จริงหรือไม่? มาหาคำตอบไปกับเราเลย

ข้อความบนโซเชียลมีเดีย

วิดีโอหนึ่งบน Instagram แสดงผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า "EMF Shield" พร้อมข้อกล่าวอ้างว่าสามารถป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อาจเป็นอันตรายได้ โพสต์นี้ได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย และมีการกดถูกใจกว่า 2,000 ครั้ง

Source | Archive

นอกจากนี้ เรายังพบผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงวางจำหน่ายอย่างแพร่หลายในไทย เราจึงตัดสินใจดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม

อ่านบทความที่คล้ายกัน: ภาพไวรัลบนโซเชียลเกี่ยวกับอันตรายของหูฟังบลูทูธ ยังไม่มีหลักฐานรองรับเพียงพอ

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าคืออะไร?

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Wave) เป็นคลื่นประเภทหนึ่งที่ปล่อยออกมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งรวมถึงเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เตา ไมโครเวฟ โทรศัพท์มือถือ รวมถึงเครื่องใช้ขนาดใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์ โดยพลังงานเหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นเมื่อกระแสไฟฟ้ามีอยู่ ซึ่งหมายความว่าเป็นส่วนประกอบที่อยู่ทั่วไปของชีวิตในยุคปัจจุบันที่ต่างต้องพึ่งพาเทคโนโลยี

พูดอย่างง่ายๆ คือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสิ่งที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตยุคปัจจุบัน แต่ทว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหล่านี้ปลอดภัยต่อมนุษย์หรือไม่?

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีช่วงความถี่และความยาวคลื่นหลายประเภท ก่อให้เกิดสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า โดยสเปกตรัมประกอบด้วยคลื่นประเภทต่างๆ เช่น:

คลื่นวิทยุ: ใช้เพื่อการสื่อสาร เช่น วิทยุกระจายเสียง

ไมโครเวฟ: ใช้ในการปรุงอาหารและการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ

รังสีอินฟราเรด: ใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้ความร้อนและอุปกรณ์จำพวกรีโมตคอนโทรล

แสงที่มองเห็นได้: ส่วนของสเปกตรัมที่ดวงตาของเรามองเห็นได้

รังสีอัลตราไวโอเลต: เป็นรังสีที่ทำให้ผิวไม้เมื่อโดนแดด และทำให้เกิดการเรืองแสง

รังสีเอกซ์ (X-RAY): ใช้ในการเอกซเรย์

รังสีแกมมา: เป็นคลื่นพลังงานสูงที่ปล่อยออกมาระหว่างกระบวนการนิวเคลียร์

จากบทความของ Healthline ซึ่งระบุไว้ว่า โทรศัพท์มือถือจะแผ่รังสีความถี่แบบไม่เกิดไอออน (Non-ionizing radio frequency radiation) ซึ่งถือเป็นความถี่ที่ต่ำที่สุดของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และในปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่เชื่อมโยงการใช้โทรศัพท์มือถือกับความเสี่ยงทางปัญหาสุขภาพที่แน่ชัด และนักวิชาการรวมถึงผู้เชี่ยวชาญหลายรายก็ระบุว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น

ผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อสุขภาพมนุษย์

สถาบันชีวิตสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NIEHS) ระบุว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุปว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์หรือไม่ แม้งานวิจัยบางชิ้นจะพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการรับรังสีความถี่วิทยุในปริมาณมากกับการเป็นมะเร็งในหนูทดลอง แต่ผลการวิจัยดังกล่าวก็ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือของมนุษย์โดยตรงได้ และทางสถาบันยังกล่าวว่า ไม่มีการเชื่อมโยงที่ชัดเจนว่าการใช้โทรศัพท์มือถือจะส่งผลต่อความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพ ทั้งนี้ยังคงมีการศึกษาวิจัยอยู่อย่างต่อเนื่อง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณรังสีที่เราได้รับจากโทรศัพท์มือถือ ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น และคำแนะนำในการปฏิบัติ โดยระบุว่ารังสีโทรศัพท์มือถือจัดอยู่ในกลุ่ม 2B ซึ่งหมายถึง มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นสาเหตุของมะเร็งในมนุษย์ แต่ยังไม่ยืนยันถึงความเสี่ยงที่แน่นอน

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ระบุว่าโทรศัพท์มือถือมีการปล่อยรังสีในระดับต่ำ และแม้ว่าจะยังคงดำเนินการวิจัยเพื่อติดจามผลอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับอันตรายจากโทรศัพท์มือถือ

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยในปี 2015 เกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กแบบความถี่ต่ำต่อกระดูกมนุษย์ โดยผลการศึกษาระบุว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (EMF) บางประเภท สามารถช่วยให้เซลล์ไขกระดูกและเซลล์ต้นกำเนิดโครงกระดูกของมนุษย์เติบโตและเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการรักษาและสร้างเนื้อเยื่อ โดย EMF ส่งผลต่อพฤติกรรมของไอออนและโมเลกุลส่งสัญญาณ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของยีน การพัฒนาเซลล์ และการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ความถี่ EMF ในบางระดับสามารถเพิ่มการเกาะติด การเพิ่มจำนวน การเปลี่ยนแปลง และการอยู่รอดของสเต็มเซลล์ได้ แต่ผลลัพธ์เหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับระดับของคลื่น ความเข้มข้น และเวลาที่สัมผัส ตลอดจนการสภาวะในการทดสอบและสภาวะแวดล้อม

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถปกป้องเราจากคลื่นและรังสีได้จริงหรือไม่?

บทความของ WIRED ในหัวข้อ "Do These Gadgets Actually Protect You? We Asked the Experts" ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ รายมีความเห็นพ้องกันว่าผลิตภัณฑ์แม่เหล็กติดมือถือและสินค้าอื่นๆ ที่คล้ายกัน ไม่สามารถป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ Federal Trade Commission (FTC) สหรัฐฯ ได้ดำเนินการกับบริษัทต่างๆ ที่กล่าวอ้างเกี่ยวกับการปกป้องจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบเกินจริง และยังระบุว่าอุปกรณ์ป้องกันเหล่านี้อาจรบกวนสัญญาณโทรศัพท์ ส่งผลให้มีการปล่อยรังสีมากขึ้นเมื่ออุปกรณ์พยายามค้นหาสัญญาณ

หากมีความกังวลและต้องการปกป้องตัวเองจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหล่านี้ คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญคือ ควรอยู่ห่างจากอุปกรณ์ที่ปล่อยคลื่นดังกล่าว หรือพยายามหลีกเลี่ยงเท่าที่ทำได้ เช่น ปิดโทรศัพท์ในเวลาที่ไม่ใช้งาน หรือจำกัดการใช้ WiFi ใช้โหมดลำโพงขณะคุยโทรศัพท์ และเก็บโทรศัพท์ให้ห่างจากตัวคุณเมื่อทำได้

สรุป

แม้ว่าผลิตภัณฑ์สติกเกอร์หรือแผ่นแปะโทรศัพท์อ้างว่าสามารถป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์หลายรายได้อธิบายว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถปกป้องผู้ใช้จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ รังสีจากโทรศัพท์มือถือเป็นรังสีความถี่วิทยุที่ไม่ปล่อยไอออน ซึ่งไม่ถือว่าเป็นอันตราย และแม้องค์การอนามัยโลกจัดหมวดโทรศัพท์มือถือเป็นกลุ่ม 2B โดยหมายถึงมีความเป็นไปได้ในการเป็นสาเหตุของมะเร็งในมนุษย์ แต่ก็ยังไม่พบความเสี่ยงที่แน่นอน

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok | WhatsApp

Avatar

Title:ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแกดเจ็ต “ป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า”

Written By: Cielito Wang

Result: Insight