ข้อมูลจากโซเชียลมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลในสังคมออนไลน์ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก แต่บางครั้งข้อมูลเหล่านี้ก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ชวนเข้าใจผิดหรือเป็นข้อมูลเท็จ โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาจากการผสมรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดการสร้างข้อมูลเท็จใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งผลกระทบจากการสร้างข้อมูลลักษณะนี้อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดและส่งผลกระทบต่อสังคมและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในอนาคตได้

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา มีผู้ใช้เฟซบุ๊กแชร์ข้อความที่ระบุว่าธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาชี้แจงต่อสภาว่าเงิน 9 แสนล้านเป็นเงินที่ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาล 10 โดยข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาว่า:

“โซเชียลแห่แชร์คลิป ผู้ว่าธปท.แจงสภาฯ 9 แสนล้านไม่ใช่เงินกู้ แต่เป็น "เงินบุญ" จากผู้ปิดทองใต้ฐานพระ....

และเงินกว่า 3หมื่นล้านที่ประยุทธจองวัคซีนล็อตแรก ก็เป็นเงินของ ในหลวง ร.10 เช่นกัน #แชร์เลย แชร์เลย แชร์ให้มากที่สุด ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

ท่านใดอยากได้คลิปข่าวทรงพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยเรื่องวิกฤติโควิดครับเชิญพิมพ์ที่กูลเกิ้ลเลยครับมีเยอะมาก

พระองค์ท่านถูกเข้าใจผิดมาตลอด ผมเองก็เป็นครับ จนกระทั่งท่านได้ครองราชย์ ถึงได้รู้ว่าพระองค์มิได้ต่างจากพระราชบิดาเลย เพียงแต่ทรงงานกันคนละแบบ เพราะท่านไม่ทรงประสงค์จะเป็นข่าว ขอพระองค์ทรงพระเจริญพระเจ้าข้า

#เรารักสถาบันพระมหากษัตริย์

#ผู้ปิดทองหลังพระ

#แชร์ความดีไม่มีความผิด”

Source | Archive

โดยข้อความดังกล่าวได้ถูกแชร์ต่ออย่างแพร่หลายบนเฟซบุ๊ก โดยเราพบว่าข้อความดังกล่าวมีการเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2564

โพสต์ข้อกล่าวอ้างเดียวกัน ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2564

Source | Archive

หลังจากที่ดำเนินการตรวจสอบ เราพบว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ทีมงาน Fact Crescendo ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ 9 แสนล้านและธนาคารแห่งประเทศไทย และพบว่าข้อความที่มีการแชร์อย่างแพร่หลายดังกล่าวมาจากข่าวธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการเสริมสภาพคล่องในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน ปี 2563

โดยเนื้อความในข่าวได้กล่าวว่าแบงก์ชาติมีการออกมาตรการเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจเอกชนและประชาชน โดยวงเงินทั้งหมดอยู่ที่ 9 แสนล้านบาท และผู้ว่าแบงก์ชาติยืนยันว่าไม่ใช่การกู้เงินของแบงก์ชาติ และไม่ได้นำเงินจากเงินกองทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้แต่อย่างใด แต่เป็นการบริหารจัดการสภาพคล่องตามปกติ เพื่อการให้อำนาจใช้เงินบริหารจัดการสภาพคล่องและปริมาณเงินให้ตรงกรอบเป้าหมายเพื่อที่จะได้แก้สถานการณ์และลดผลกระทบจากโควิด-19

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2564 หลังจากมีการแชร์ข้อความข้างต้นอย่างแพร่หลายบนโซเชียล ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาชี้แจงว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยระบุว่า

“จากที่มีการแชร์คลิปเสียงบนโลกออนไลน์ โดยระบุว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาแจงรายละเอียดที่มาของเงิน 9 แสนล้านบาทนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ปล่อยคลิปเสียง และไม่เคยมีการกล่าวถึงหรือให้ข้อมูลเรื่องของแหล่งที่มาของเงิน 9 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นฟู และดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่อย่างใด ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th หรือโทร. 02-283-5353”

และในส่วนของงบประมาณวัคซีนสำหรับวัคซีนโควิด-19 อ้างอิงจากไทยพับลิกา “ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ หรือกรมควบคุมโรค ทำเรื่องไปที่สำนักงบประมาณ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณมาใช้ในการทำสัญญาจองล่วงหน้า ซึ่งจะต้องมีการวางเงินมัดจำล่วงหน้า และกันงบฯ เตรียมไว้จ่ายค่าวัคซีนส่วนที่เหลือ เมื่อมีการส่งมอบตามสัญญาจัดซื้อวัคซีน หรือทำเรื่องเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อขอใช้วงเงินเงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท” (อ่านบทความเกี่ยวกับงบประมาณวัคซีนที่นี่)

อย่างไรก็ตาม เราพบว่าข้อมูลเกี่ยวกับเงินบริจาคจากในหลวง มีแนวโน้มว่าจะมาจากข่าวที่ในหลวงพระราชทานทรัพย์จำนวน 2.8 พันล้านบาทเพื่อสมทบทุนและจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสำนักข่าวประชาไท ได้รายงานว่า

“23 ก.ค. 2564 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยประชาชนและบุคลากรณ์การแพทย์ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างยิ่ง โดยพระราชทานทรัพย์เพื่อสมทบทุนและจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ได้แก่

  1. พระราชทานทรัพย์ จำนวน 100 ล้านบาท (100,000,000 บาท) สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช
  2. พระราชทานทรัพย์ จำนวน 2.4 พันล้านบาท (2,407,144,487.59 บาท) แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ และสถานพยาบาล 27 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์
  3. พระราชทานทรัพย์ จำนวน 345 ล้านบาท (345,000,000 บาท) แก่เรือนจำ ทัณฑสถาน และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์

เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 ก.ค. 2564”

สรุป

ข้อความที่แชร์บนโซเชียลว่าผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับงบประมาณ 9 แสนล้านบาท มาจากในหลวง ร.10 นั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมายืนยันแล้วว่าไม่ใช่ความจริง และเงินที่ในหลวงทรงบริจาคเพื่อช่วยเหลือสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 2.8 พันล้านบาทนั้นก็เป็นการบริจาคให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาล และทัณฑสถานต่างๆ เพื่อจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ข้อความข้างต้นที่มีการที่แชร์บนโซเชียลจึงเป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด

Avatar

Title:แบงก์ชาติปฏิเสธ ข่าวลืองบประมาณ 9 แสนล้าน เป็น “เงินบุญ”

Fact Check By: Cielito Wang

Result: Misleading