เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 กรุงเทพมหานคร ได้เปลี่ยนป้ายชื่อจังหวัดที่บริเวณ Sky Walk แยกปทุมวัน ซึ่งก่อนหน้านี้ป้าย “Bangkok” ได้กลายเป็นจุดยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมักมาถ่ายรูปเช็กอิน และสร้างขึ้นมาเป็นเวลากว่า 18 ปีแล้ว (ที่มา)

โดยหลังจากมีการเปิดตัวป้ายโฉมใหม่ ก็มีข้อความแพร่กระจายว่า ป้ายโฉมใหม่ของ กทม. ใช้งบประมาณถึง 3 ล้านบาท

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

เราพบข้อความที่กล่าวอ้างว่าป้ายใหม่ของ กทม. ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท แพร่กระจายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทั้ง Facebook และ X

ที่มา | ลิงก์ถาวร

ที่มา | ลิงก์ถาวร

ที่มา | ลิงก์ถาวร

ที่มา | ลิงก์ถาวร

อย่างไรก็ตาม เราพบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด และป้ายดังกล่าวไม่ได้ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

กทม. ชี้แจง งบ 3 ล้าน ไม่เกี่ยวกับป้ายใหม่

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีที่มีข้อสงสัยว่า กทม.ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาทเพื่อการออกแบบและติดสติกเกอร์ใหม่บนคานรางรถไฟฟ้านั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยข้อเท็จจริงคือ กทม.ใช้งบประมาณจ้างเหมาเอกชนดำเนินการกำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ในวงเงิน 2,952,600 บาท

โครงการดังกล่าวประกอบด้วย

  1. ระบบตราสัญลักษณ์ ได้แก่ ตราสัญลักษณ์มาตรฐาน ตราสัญลักษณ์แบบอักษร ตราสัญลักษณ์หน่วยงานในสังกัด กทม. ข้อกำหนดการนำไปใช้
  2. ระบบสี ได้แก่ ระบบสีหลัก ระบบสีรอง ระบบสีสัญลักษณ์ และข้อกำหนดการนำไปใช้
  3. ระบบตัวอักษร ได้แก่ ชุดตัวอักษรหลักภาษาไทย – อังกฤษ (เสาชิงช้า) ชุดตัวอักษรรองภาษาไทย – อังกฤษ (อนุพันธ์ และไทยสารบัญ) และข้อกำหนดการนำไปใช้
  4. ลวดลายกราฟิกอัตลักษณ์ จำนวน 2 ชุด
  5. หลักเกณฑ์การใช้ภาพถ่ายประกอบกับตราสัญลักษณ์
  6. ชุดภาพและระบบสีของชุดภาพสัญลักษณ์
  7. รูปแบบการใช้สัญลักษณ์บนสื่อต่าง ๆ สำหรับการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ สื่อออนไลน์ทั่วไป ข่าวทั่วไป เทศกาลต่าง ๆ การให้ข้อมูลในรูปแบบอินโฟกราฟิก การอ้างอิงคำพูด การประกาศ รูปแบบวิดีโอ
  8. รูปแบบการใช้สัญลักษณ์สำหรับงานต่าง ๆ ได้แก่ งานนำเสนอ (Powerpoint Template) การพิมพ์โปสเตอร์ การพิมพ์ฉากหลัง การพิมพ์แผ่นพับ การพิมพ์ประกาศนียบัตร จอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง ใต้รางรถไฟฟ้า สื่อวิดีโอ การขึ้นชื่อและตำแหน่งบนวิดีโอ เว็บไซต์
  9. การนำอัตลักษณ์ไปใช้กับวัสดุ อุปกรณ์ และป้ายหน่วยงาน/ส่วนราชการ (ตัวอย่างการออกแบบ) เช่น สมุดโทรศัพท์ ถุงกระดาษ กล่องพัสดุ จานอาหาร จานรองแก้ว แก้ว แก้วเซรามิค สมุดปากกา ดินสอ ป้ายชื่อประจำโต๊ะ นามบัตร บัตรแสดงตน สายคล้องบัตรแสดงตน บัตรผู้มาติดต่อ เสื้อโปโล เสื้อยืด เสื้อแจ็คเก็ต เน็กไท หมวกแก๊ป รถยนต์ รถกระบะ รถตู้ รถบัส รถบรรทุก รถขยะ รถจักรยานยนต์ ถังขยะ ป้ายหน้าหน่วยงาน/ส่วนราชการ เคาน์เตอร์บริการประชาชน และข้อกำหนดการนำไปใช้
  10. ตราสัญลักษณ์ประเภทเคลื่อนไหวสำหรับงานวิดีโอ ความยาว 2 วินาที 5 วินาที 10 วินาที 15 วินาที
  11. คู่มืออัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร

ตัวอย่างผลงานการกำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของกรุงเทพมหานคร

(ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.)

นอกจากนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้อธิบายเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า สำหรับสติกเกอร์ใหม่ที่นำมาติดจะมีข้อความและดีไซน์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร โดยกราฟิกอัตลักษณ์ดังกล่าวมีที่มาจากตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร โดยนำ “วัชระ” อาวุธประจำกายของพระอินทร์ที่ใช้ปกป้องคุ้มครองกรุงเทพมหานคร มาครอบตัดภาพ ให้เป็นลวดลายที่มีความเป็นนามธรรม โทนสีของกราฟิกชุดนี้จะใช้ระบบสีรองซึ่งสะท้อนถึงความสุขของผู้คนและการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่กับวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ส่วนระบบสีหลักจะเป็นสีเขียวมรกตซึ่งเป็นสีที่ถูกนำมาใช้งานมากที่สุดในงานกราฟิกส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร (ที่มา)

สรุป

ข้อมูลที่กล่าวว่า กทม. ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาทสำหรับป้ายใหม่ที่แยกปทุมวันนั้น เป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด แท้แล้วงบประมาณ 2.9 ล้านบาทนั้น เป็นงบประมาณทั้งหมดสำหรับการออกแบบและดำเนินการกำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อปี 2566 ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการทำป้ายครั้งนี้แต่อย่างใด

Avatar

Title:ป้าย “Bangkok” ของ กทม. ไม่ได้ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท

Fact Check By: Cielito Wang

Result: Misleading